img

พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา (อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ 5 ชั้น 1)

โซนจัดแสดงที่ 1

พระราชพิธีในวิถีเกษตร

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีแต่โบราณเพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกร เมื่อเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก และได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2479 และต่อมา พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นเพื่อเป็นการสืบทอดโบราณราชเพณี

หุ่นจำลอง พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

โซนจัดแสดงที่ 2

กษัตริย์ เกษตร

จัดแสดงพระราชประวัติ ตั้งแต่พระองค์ทรงพระราชสมภพ 5 ธันวาคม 2470 พระราชกรณียกิจกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความสัมพันธ์ของพระมหา กษัตริย์กับการเกษตรในยุคสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ และตำนานการก่อเกิดเกษตรกรรม รับชมภาพยนตร์ การ์ตูนแอนิเมชั่น 3 มิติ ทะลุหน้าจอ จำนวน 8 เรื่อง ประกอบด้วย“เรื่องของพ่อในบ้านของเรา”“แผ่นดินของเรา” “ทรัพย์ ดิน สินน้ำ” “ไผ่รวกกับทานตะวันผู้ยโส”“เมล็ดสุดท้าย”“คิดถึงมิลืมเลือน”“สืบทอดความดีงาม” และ “อัจฉริยะนวัตกรรม” ในโรงภาพยนตร์ กษัตริย์ เกษตร รองรับผู้เข้าชมกว่า 120 ที่นั่ง

โซนจัดแสดงที่ 3

3) หลักการทรงงาน

หลักการทรงงาน 23 ข้อ

หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงยึดทางสายกลางสอดคล้องกับ สิ่งแวดล้อมและสามารถปฏิบัติได้จริง ทรงมีความละเอียดรอบคอบและทรงคิดค้นหา แนวทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์สูงสุดสำหรับราษฎร

1.ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ การที่จะพระราชทานพระราชดำริเพื่อดำเนินงานโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น ทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบจากข้อมูลพื้นฐานในเบื้องต้นจากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และสอบถามจากราษฎรในพื้นที่ให้ได้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ครบถ้วน เพื่อที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วตรงความต้องการของประชาชน

2.ระเบิดจากข้างใน หมายความว่า ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนที่เข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งหลายชุมชนยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว จึงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ความล่มสลายได้

3.แก้ปัญหาที่จุดเล็ก ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะทรงเริ่มจากจุดเล็ก ๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม “...ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออกเป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน... มันไม่ได้เป็นการแก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้”

4.ทำตามลำดับขั้น “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด”

5.ภูมิสังคม “...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริง ๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง..."

6.องค์รวม ทรงมองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดอย่างเป็นระบบครบวงจร มองทุกสิ่งเป็นพลวัตที่ทุกมิติเชื่อมต่อกัน ในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้น จะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง

7.ไม่ติดตำรา หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีลักษณะการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาของชุมชน เป็นการใช้ตำราอย่างอะลุ่มอล่วยกัน ไม่ผูกติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริง คือ "ไม่ติดตำรา"

8.ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด การพัฒนาและช่วยเหลือราษฎรทรงใช้หลักในการแก้ไขปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่นและประยุกต์ใช้สิ่งสิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ มาแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “...ให้ปลูกป่า โดยไม่ต้องปลูก โดยปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ จะได้ประหยัดงบประมาณ...”

9.ทำให้ง่าย ทรงคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไขงานการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริดำเนินไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และที่สำคัญคือ สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้น ๆ ทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยาก ให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อันเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทางนั่นเอง ฉะนั้นคำว่า “ทำให้ง่าย” จึงเป็นหลักคิดสำคัญของการพัฒนาประเทศในรูปแบบของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

10.การมีส่วนร่วม ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ทรงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทั้งสาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้เข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร่วมกันทำงานโครงการพระราชดำริ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนหรือความต้องการของสาธารณชนด้วย สำหรับวิธีการมีส่วนร่วมพระองค์ทรงนำ "ประชาพิจารณ์" มาใช้ในการบริหารจัดการดำเนินงาน ซึ่งเป็นวิธีการที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา โดยหากจะทำโครงการใดจะทรงอธิบายถึงความจำเป็นและผลกระทบที่เกิดกับประชาชนทุกฝ่าย รวมทั้งผู้นำชุมชนในท้องถิ่น เมื่อประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยแล้ว หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและร่วมดำเนินการมีความพร้อม จึงจะพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินโครงการนั้น ๆ ต่อไป

11.ประโยชน์ส่วนรวม ทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ เมื่อ พ.ศ. 2514 (เลขไทย) มีพระบรมราโชวาทที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ความตอนหนึ่งว่า “...ใครต่อใครบอกว่า ขอให้เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม อันนี้ฟังจนเบื่อ อาจรำคาญด้วยซ้ำว่า ใครต่อใครมาก็บอกว่าขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม อาจมานึกในใจว่า ให้ ๆ อยู่เรื่อยแล้วส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่าคนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้น มิได้ให้แน่ส่วนรวมแต่อย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้...”

12.บริการรวมที่จุดเดียว ทรงให้ศูนย์ศึกษา การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการบริการรวมที่จุดเดียว คือการบริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Services เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่จะมาขอใช้บริการ จะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยจะมีหน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว

13.ใช้ธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติ ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติ และต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติ ทรงมองปัญหาธรรมชาติอย่างละเอียด โดยหากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม ได้พระราชทานพระราชดำริ "การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง "การปลูกป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่าง" ได้แก่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ผลและไม้ฟืนนอกจากได้ประโยชน์ของการปลูกแล้ว ยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดิน ทำให้อยู่ร่วมกับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน

14.ใช้อธรรม ปราบอธรรมทรงนำความจริง ในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติ เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การนำน้ำดี ขับไล่น้ำเสีย เป็นการเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดี ตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ

15.ปลูกป่าในใจคนเป็นการปลูกป่าลงบนแผ่นดินด้วยความต้องการอยู่รอดของมนุษย์ ทำให้ต้องมีการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมาจะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

16.ขาดทุนคือกำไร“ขาดทุนคือกำไร การเสีย คือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...” จากพระราชดำรัสดังกล่าว คือหลักการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อพสกนิกรไทย “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้

17.การพึ่งตนเองคือการพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และสามารถ “พึ่งตนเองได้” ในที่สุด ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดเพราะผู้มีอาชีพ และฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป...”

18.พออยู่ พอกินทรงสามารถเข้าพระราชหฤทัยในสภาพปัญหาได้อย่างลึกซึ้งว่ามีเหตุผลมากมายที่ทำให้ราษฎรตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ จากนั้นได้พระราชทานความช่วยเหลือให้พสกนิกร มีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อน แล้วจึงขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป

19.เศรษฐกิจพอเพียงปรัชญาของ "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ในการพัฒนาและบริหารให้ดำเนินไปในทางสายกลาง เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ "ความพอเพียง" หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง

20.ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน“...ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญ ยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ แท้จริงได้สำเร็จ...” พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒ “...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ...” พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๓

21.ทำงานอย่างมีความสุขทรงพระเกษมสำราญ และทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเคยมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า “...ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น...”

22.ความเพียร พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก หนังสือเล่มนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ หากคนไทยน้อมรับมาศึกษาวิเคราะห์ และปฏิบัติตามรอยพระมหาชนก กษัตริย์ผู้เพียรพยายาม แม้จะไม่เห็นฝั่งก็ยังว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหารปูปลา และไม่ได้พบกับเทวดาที่มาช่วยเหลือมิให้จมน้ำไป เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มทำโครงการต่างๆ ในระยะแรกที่ไม่มีความพร้อมในการทำงานมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์แต่มิได้ทรงท้อพระราชหฤทัย ทรงมุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมืองให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข

23.รู้ รัก สามัคคีมีพระราชดำรัสในเรื่อง "รู้ รัก สามัคคี" มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีคุณค่าและมีความหมายลึกซึ้ง สามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย
    รู้: การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา
    รัก: คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความแล้วจะต้องมีความรัก การพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ
    สามัคคี: การที่จะลงมือปฏิบัติควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะจึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี


โซนจัดแสดงที่ 4

หัวใจใฝ่เกษตร

สนุกกับของเล่นในวิถีเกษตร จากธรรมชาติใกล้ตัว ทำได้เองพร้อมองค์ความรู้ในวิถีเกษตร เครื่องสีข้าวด้วยมือ เครื่องใช้ไม้สอยในการประกอบอาชีพเกษตร

โซนจัดแสดงที่ 5

ตามรอยพ่ออยู่อย่างพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชจริยวัตรตามวิถีแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย พระองค์ท่านเอง ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวที่ทรงเป็นแบบอย่าง การใช้สิ่งของต่างๆ อย่างคุ้มค่า เช่น หลอดยาสีพระทนต์ ดินสอคู่พระหัตถ์ เป็นต้น

พระราชดำริที่พระราชทานเกี่ยวกับงานพัฒนาที่ทรงยึดเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตร โดยใช้หลักคิดคำนวณแบ่งที่ดินออกเป็นส่วนชัดเจน กักเก็บน้ำ (30) พืชต่างๆ (30) ที่นา (30) ที่อยู่อาศัย (10) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

พอประมาณ : ไม่น้อย ไม่มากจนเกินไป เพียงพอแก่การดำเนินชีวิต

การใช้เหตุผล : คิดคำนึงตรึกตรองถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิด

ภูมิคุ้มกัน : วางแผนชีวิตที่มีทางเลือก พร้อมรับผลกระทบจากความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง

ความรู้ : มีข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังจะทำ

คุณธรรม : มีความซื่อสัตย์ อดทน มีสติปัญญาและความเพียร เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

สู่วิถีพอเพียงด้วย สุ จิ ปุ ลิ แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สุ : สุตะ คือ ฟัง รู้ได้ด้วยการฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ใช้สมาธิเพื่อให้เกิด ปัญญา

จิ : จินตะ คือ รู้ได้ด้วยการคิด เชื่อมโยงเปรียบเทียบ

ปุ : ปุจฉา คือ รู้ได้ด้วยการสอบถาม ค้นคว้า ย้อนถามตน ค้นหาคำ ตอบที่มีอยู่แล้ว

ลิ : ลิขิต คือ เขียน รู้ได้ด้วยการเขียน จดบันทึกทบทวน เป็นวิทยาทาน แก่ผู้อื่น ตามรอยพระวิริยภาพ


โซนจัดแสดงที่ 6

วิถีเกษตรของพ่อ

จัดแสดงนิทรรศการ พระอัจฉริยภาพด้านการจัดการ ดิน น้ำ ป่า คน จากโครงการส่วนพระองค์


สวนจิตรลดา ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

วิถีเกษตรของพ่อ

พระราชวังดุสิต ห้องทดลองแห่งแรก พัฒนาสู่พื้นที่จริงในแต่ละ ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการหลวง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วย ฮ่องไคร้ฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา  ภูพานฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหิน ซ้อนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยทรายฯ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ภายใน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกร ทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขและพัฒนาการเกษตร ไทยให้เจริญก้าวหน้า โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นโครงการทดลองในการหาวิธีแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ ขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ แปรรูป จำหน่าย รวมทั้งนำส่วนที่เหลือจาก ขั้นตอนการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ทั้งยังมีพระราชประสงค์ที่จะ แก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และหาพืชที่เหมาะสมให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น และจัดตั้งศูนย์พัฒนา ขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร ตรา“ดอยคำ” ใช้กับผลิตภัณฑ์ ทุกชนิดของโครงการหลวง


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

แก้ปัญหาทางการเกษตรพัฒนาแหล่งน้ำ ปรับปรุงดิน ฟื้นฟูป่า อนุรักษ์พืชสมุนไพรท้องถิ่น และการทำเกษตรผสมสาน ทฤษฎีใหม่เขาหินซ้อน (20: 20: 50 : 10) แบ่งเป็น (20) แหล่งน้ำและการเลี้ยงปลา (20) พื้นที่ปลูกข้าว (50) พืชสวนผสมผสาน (10) ที่อยู่อาศัย ผักสวนครัว สมุนไพร


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ

ศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ประชาชน ศึกษาการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ การศึกษาด้านการประมงร่วมกับการศึกษาเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และเกษตรอุตสาหกรรม 


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ

ศึกษาพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมทั้งแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรให้เหมาะสม และยั่งยืนตลอดไป ระบบการจัดการน้ำ เพื่อการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง อ่าวคุ้งกระเบนฯ ร่วมกับชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน จนกลายเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรี และจัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องระบบนิเวศแก่ผู้สนใจ


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ

สนับสนุนกิจกรรมการฟื้นฟูดิน คืนป่า และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในการประกอบอาชีพ ด้วยระบบเครือข่ายน้ำ (อ่างพวง) และการแก้ไขปัญหาดินดานด้วยการปลูกหญ้าแฝก


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ

ศึกษาวิจัยดินพรุ และนำผลสำเร็จไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่พรุอื่นๆ และการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ด้วยวิธีแกล้งดิน โดยทำให้ดินแห้ง สลับเปียก


โซนจัดแสดงที่ 7

นวัตกรรมของพ่อ

ทรงคิดค้นประดิษฐ์กรรมเพื่อคนไทย และเกษตรกรไทย ด้วยพระวิริยะและพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษา คิดค้น ทดลองซ้ำๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากความพยายามแก้ปัญหาด้านการ เกษตร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม จนปรากฏเป็นประดิษฐกรรม หรือนวัตกรรมที่ไม่มีผู้ใดคิดหรือทำขึ้นมาก่อนซึ่งในโลกยุคปัจจุบันถือเป็น ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่ายิ่งต่อเศรษฐกิจ และศักดิ์ศรีของประเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงมีพระราชดำริให้จดสิทธิบัตร จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และแจ้งจดลิขสิทธิ์ ในสิ่งที่ได้ทรงคิด ค้น เพื่อเป็นสมบัติภูมิปัญญาเป็นมรดกสำหรับคนไทยและประเทศไทยในอนาคต

โซนจัดแสดงที่ 8

ภูมิพลังแผ่นดิน

จัดแสดงนิทรรศการ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ภายในโดมไม้สนที่แสนจะอบอุ่น และการเรียนรู้ 7 ช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านสื่อหนังสือดิจิตอลเล่มยักษ์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงขึ้นครองราชย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ.2489 และมีปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”ภูมิพลังแผ่นดิน ช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว 1 – 7 ช่วงสมัย

ช่วงสมัยที่ 1 พระอภิบาลของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พ.ศ.2470 – 2495)

ช่วงสมัยที่ 2 เสด็จเยี่ยมราษฎรเพื่อทรงสำรวจชีวิตความเป็นอยู่และสภาพภูมิประเทศ (พ.ศ.2495 – 2504)

ช่วงสมัยที่ 3 แรกทรงคิดค้นทดลอง หาหนทางบรรเทาทุกข์แก่ราษฎร (พ.ศ.2504 - 2514)

ช่วงสมัยที่ 4 จากฝนหลวงถึงโครงการหลวง จากการจัดการน้ำถึงงานรักษาป่าไม้ (พ.ศ. 2514 – 2524)

ช่วงสมัยที่ 5 ศูนย์ศึกษาการพัฒนา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (พ.ศ.2524 – 2534)

ช่วงสมัยที่ 6 ทางรอดชีวิต : ทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ.2534 – 2544)

ช่วงสมัยที่ 7 ภูมิพลังแผ่นดิน ไทยแซ่ซ้องสรรเสริญ – พระบารมี (พ.ศ.2544 – ปัจจุบัน)


นิทรรศการสนองพระราชปณิธาน

จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งการสนองพระราชปณิธานเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาชนชาวไทยทั่วทั้งแผ่นดิน โดยพระองค์ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ปวงประชาชนชาวไทย และการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืน

ประกอบด้วยนิทรรศการ 

- หล่อหลอมกล่อมเกลา สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงอบรมเลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติพระองค์ทรงอุทิศพระวรกายประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง และทรงบำเพ็ญพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมตลอดรัชสมัย 

 - แบบอย่างสืบสานงานแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงร่วมกันปฏิบัติพระราชภารกิจต่างๆ เพื่อพสกนิกรและเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพระราชโอรสและพระราชธิดา เพื่อให้สืบสานงานแผ่นดินต่อไป 

- พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี รายพระนามพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 - 9 

- สนองพระราชปณิธานและประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า “ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น "ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธานและเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง" ( 1 ธันวาคม 2559) 

- พระราชกรณียกิจด้านการเกษตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ     พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนชาวไทย มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้พระราชทานให้กับราษฎรครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การอุปโภค บริโภค เช่น คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ โครงการเกษตรวิชญา และการสืบสานงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ



ภาพ 360 องศา