สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เข้าร่วมงานวันสถาปนากรมประมงปีที่ 98

20 ก.ย. 67 16

        วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2567 พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มอบให้นางสาวสำเภาว์ งามเชย รองผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฝ่ายพัฒนา เข้าร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนากรมประมงปีที่ 98 ภายใต้หัวข้อ “98 ปี นวัตกรรมการประมงไทย ก้าวไปสู่ความมั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยมี นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีฯ พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการประมวลผลงานกรมประมง ชูนวัตกรรมเด่นจากการวิจัยที่พร้อมเชื่อมโยง สู่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ เสริมความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และหนุนภาคการประมงไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง กรุงเทพมหานคร 

        ในโอกาสครบรอบสถาปนากรมประมง ปีที่ 98 ปีนี้ กรมประมงจึงจัดงานภายใต้แนวคิด “98 ปี นวัตกรรมการประมงไทย ก้าวไปสู่ความมั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยนำเสนอนิทรรศการผลงานเชิงนวัตกรรมที่โดดเด่นของกรมประมงในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 

        1. ด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่มีการขยายผลสู่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ อาทิ 

        - การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ 18 - 30% และลดต้นทุนพลังงานได้ 22.4 - 39.0% เหลือเพียง 10.1 - 24.3 บาท/ก.ก. รวมทั้งลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,291 - 9,433 kCO2e/รอบการเลี้ยง/บ่อ 

        - การประยุกต์ใช้เครื่องหมาย DNA Markers ในการปรับปรุงพันธุ์กุ้งขาว ด้วยการผลิตและกระจายลูกพันธุ์กุ้งขาวทางเลือกให้แก่เกษตรกรจำนวน 2 สายพันธุ์ ประกอบด้วย “เพชรดา 1” กุ้งขาวสายพันธุ์เจริญเติบโตดี และ “ศรีดา 1” กุ้งขาวสายพันธุ์ต้านโรค EMS-AHPND ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคตายด่วน 

        - การจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ 6 ชนิด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม, ปลาสวยงาม (ปลากัด,ปลาทอง), สาหร่ายทะเล, กะพงแดง และปลิงทะเล ภายใต้โครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ที่มุ่งพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกร 

        2. ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมง นำเสนอความสำเร็จในการขยายพันธุ์-การบริหารจัดการปลาบึก การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้ในการสร้างฐานข้อมูลปลาตะพัด รวมถึงการนำเสนอโครงการฯ และมาตรการต่าง ๆ ของกรมประมงในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ 

        3. ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงและตรวจสอบย้อนกลับ นำเสนอความสำเร็จของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมงมูลค่าสูง ภายใต้แนวความคิดการผลิตอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยจัดแสดงแบบจำลองตัวอย่างโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปปลานิลและสาหร่ายผักกาดทะเลมาให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมและชิม