พิพิธภัณฑ์เกษตร พาเที่ยว พาทำ ตามรอยกษัตริย์ไทย “Hub” แห่งการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร ภาคกลาง

2 ก.ย. 67 51

         พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ นำคณะสื่อมวลชน “ท่องเที่ยวเส้นทางตามรอยพ่อ” 1 ศูนย์เครือข่ายและ 2 ศูนย์การเรียนรู้เครือข่าย พกฉ. ภาคกลาง “Hub” แห่งการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร จากแนวพระราชดำริสู่รูปธรรมความสำเร็จที่สร้างความเข้มแข็งของสังคมฐานราก ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2567 

        นางสาวสำเภาว์ งามเชย รองผู้อำนวยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า “หลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยสอนไว้นั้นมีมากมายให้เราเลือกหยิบยก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม และครั้งนี้ขอตามรอยพ่อตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร กับหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท เพื่อการทำงานที่ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ปัจจุบันสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ฯ ศูนย์เรียนรู้เครือข่าย ฯ กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 95 แห่ง จาก 72 จังหวัด โดย พกฉ.มีเป้าหมายขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานของสำนักงาน ฯ ” 

        ครั้งนี้ พกฉ.ชวน พี่ ๆ สื่อมวลชนไปพบกับส่วนหนึ่งของความสำเร็จในงานเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ด้านการเกษตรและการขับงานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงาน ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างของบุคคล ชุมชน ในฐานะศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ และศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักทรงงาน ไปศึกษาและปฏิบัติจนสำเร็จ ก่อให้เกิดรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถแบ่งปัน ความรู้ ประสบการณ์ยังผู้อื่นด้วย 

        “ไร่อุดมฝน” ต.เสือโฮก อ.เมือง จ.ชัยนาท มีคุณสายชล ธำรงโชติ และคุณอุดม สถาวระ เป็นเจ้าของศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จากพนักงานบริษัทผันตัวเองมาทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง โดยการค้นหาการทำเกษตรที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตตนเอง จากแปลงข้าวมาเป็นแปลงหม่อน ออกแบบ ปรับปรุงแปลง สร้างผลผลิตลูกหม่อนมากมาย เรียนไม่รู้จบ ศึกษา ทำความเข้าใจ สู่การยกระดับจากหม่อนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ได้แก่ น้ำมัลเบอรี่พร้อมดื่ม ไซเดอร์มัลเบอรี่ ชาใบหม่อน แยมมัลเบอรี่ สังขยาใบหม่อน และมัลเบอรี่โพรไบโอติกส์ ทิ้งท้ายของเจ้าของศูนย์เรียนรู้เครือข่ายฯ แห่งนี้ สิ่งที่ทำวันนี้เป็นการ “สืบสานงานแม่ แปรรูปผลผลิต ไปขายที่บ้านพ่อที่ปทุมธานี” 

        “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานชุมชน” ต.หนองแซง อ.หันคา จ.ชัยนาท โดยจ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธุ์”อดีตเป็นนักดนตรีประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ ปัจจุบันเจ้าของศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สามารถสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นจากแนวคิดการพึ่งพาตนเองในการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ขึ้นจากนั้นได้เรียนรู้โดยประยุกต์ พัฒนาเทคโนโลยีกับปัญหาเข้ากับชุมชน แก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทำเองได้ง่าย ติดตั้งง่าย การบำรุงรักษาไม่ยุ่งยากซึ่งสามารถลดต้นทุนทางการเกษตร จากนั้นรวบรวมองค์ความรู้ที่มีกระจายต่อสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ นอกจากเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านพลังงานในการยกระดับอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชนแล้วยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดแนวคิดในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานทดแทนนำไปสู่การปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตให้กับผู้เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การเกษตร ฯ อีกด้วย 

        กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาคกลาง ศูนย์เครือข่ายฯ แห่งนี้สะท้อนความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานงานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตรที่ทำงานพัฒนาบนฐานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการร่วมของกลุ่มคนรุ่นใหม่และเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ คุณสุพจน์ ศรีไสยเพชร คุณราเมศวร์ เลขยันต์ คุณภาสกร จงกสิกรรม คุณเตียง ฉลองบุญ คุณมุกดา เอี่ยมเจริญ และกลุ่มอนุรักษ์พืชพันธุกรรมพื้นถิ่น ได้พัฒนาและสร้าง “ตลาดชาวไฮ่” ขึ้น ซึ่งมีต้นแบบจากตลาดจากตลาดเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ หรือ พกฉ. โดยคงอัตลักษณ์สำคัญของตลาดแห่งนี้เช่นเดียวกับตลาดเศรษฐกิจพอเพียงที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ที่ว่า ตลาดแห่งมิตรภาพ ตลาดแห่งการเรียนรู้ ตลาดแห่งการแบ่งปัน และตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลาดซาวไฮ่จึงเป็นพื้นที่ให้เกษตรกร คนเพาะปลูก ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่ใส่ใจต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงนำผลผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยมาจำหน่ายมีรายได้ ที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มคน หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนที่สนใจการทำงานพัฒนาบนฐานทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น 

        ศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งรูปธรรมความสำเร็จของการน้อมนำแนวพระราชดำริ หลักคิด หลักปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับภูมิสังคม ทำงานที่ระเบิดจากข้างในของคนในพื้นที่ การทำงานบนฐานข้อมูลของพื้นที่ ทำงานแบบติดตำรา โอนอ่อนตามสภาพความเป็นจริง และทำงานอย่างมีความสุข ทำให้เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ยกระดับอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีตลาดซาวไฮ่ และการอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นเป็นกิจกรรมสำคัญของการขับเคลื่อนงานร่วมกัน