พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ปทุมธานี ส่งมอบความสุขในเดือนแห่งความรัก ชวนเที่ยวงาน เกษตรไทยเท่ 4 - 5 กุมภาพันธ์
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปทุมธานี ขอเชิญทุกท่านร่วมงาน ตลาดเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรไทยเท่ ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ 2566 พบกับหลากหลายไอเดียการทำเกษตรสุดเท่ เรื่องราวความสุขจากการทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะมาช่วยปรับสมดุลของชีวิต และครอบครัว ให้มีกิน มีใช้ และสามารถแบ่งปันไปยังบุคคลในสังคม จัดเต็มกับองค์ความรู้วิชาของแผ่นดิน และอบรมเชิงปฏิบัติการ ชม ช้อป ของกิน ของใช้ ผลผลิตปลอดภัย และเลือกหาของดีมีคุณภาพจากพี่น้องเกษตรกรเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ส่งต่อให้คนที่เรารักในเดือนแห่งความรัก ณ พื้นที่จัดงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ปทุมธานี หรือรับชมบรรยากาศงานสดๆ ผ่านทาง Facebook พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ
พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า “ประเทศไทยจัดว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ซึ่งปัจจัยสำคัญของการผลิตอาหาร คือการมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ที่มาจากพี่น้องเกษตรกรของไทยที่มีมากกว่า 8 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ นอกจากนี้อาชีพเกษตรกร ถือเป็น 1 ใน 5 อาชีพที่คนทำงานประจำหันมาให้ความสนใจ เพราะนอกจากการเป็นนายของตัวเอง และยังมีเวลาให้กับตนเองและครอบครัว เกิดความสุขความสมดุลของชีวิต เป็นไอดอลเกษตรสุดเท่ สร้างประโยชน์ให้กับครอบครัว และสังคมจากการทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง การจัดงานครั้งนี้จึงได้นำเสนอแนวคิด ไอเดียการทำเกษตรแบบเท่ๆ เรื่องราวความสุขในการทำเกษตรจากพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนา ต่อยอด มีกิน มีใช้ และแบ่งปันสู่สังคม”
สำหรับไฮไลท์เด่นภายในงาน พบกับ 2 เกษตรกรไอดอลคนยุคใหม่ กับเรื่องราว ความรักในการ ทำเกษตร เกษตรกรไอดอลคนแรก คุณขวาน สรศักดิ์ ไวจันทึก เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จากวังน้ำเขียวเมืองย่าโม ที่จะมาแชร์ความสุข และเคล็ดลับการปลูกผักสลัดอินทรีย์ทั้งปี มีกิน มีขาย สร้างรายได้ สู่การต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน และเกษตรไอดอลจากครอบครัวคนเลี้ยงแพะ โดยคุณดา ปิญญา เวชไพบูณ จากพนักงานประจำ สู่เจ้าของกิจการฟาร์มแพะกลางเมืองนนทบุรี เคล็ดลับการเลี้ยงแพะแบบวิถีธรรมชาติครบวงจร ใช้ความรักสร้างความสุขให้ตนเอง และครอบครัว
กิจกรรมการมีส่วนร่วมสนุกภายในงาน พบกับกิจกรรมสุดฮิต อาทิ กิจกรรมเกษตรไซเบอร์ ร่วมสนุกผ่านแว่น VR แสนเท่ ตะลุยภารกิจตามหาอุปกรณ์การเกษตรไทย ในโลกเสมือนจริง กิจกรรมละไมจุน ชวนทำ DIY เทียนหอมสุดละมุนใจ กิจกรรมร้อยรัก นักร้อย ชวนทำ DIY ร้อยลูกปัดสุดเก๋ เป็นของฝากแก่คนที่คุณรัก กิจกรรมเสี่ยงเซียมซีวิถีสายมู ทำนายชีวิตสไตล์เกษตร สนุกสุดพลังไปกับ กิจกรรมจักยานสูบน้ำ พร้อม แก้ปริศนากิจกรรมขดลวดโซลาเซลล์ และกิจกรรมเพาะ แจก แลก เปลี่ยน ยังสามารถนำวัสดุเหลือใช้ อาทิ แก้วน้ำ ถุงพลาสติก มารับกล้าไม้นานาชนิดกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้เช่นเคย เปิดให้เข้าชม พิพิธภัณฑ์ในอาคารแบบจัดเต็ม
พิเศษสุดสำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชม พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา ยังสามารถเข้าชม พิพิธภัณฑ์วิถีเกษตรไทย จัดแสดงเรื่องราว วิถีเกษตรกรไทย วิถีเกษตรกรรมตามรอยศาสตร์พระราชา ภายใต้แนวคิด เกษตรกรไทยเท่ มีกิน มีใช้ มีเก็บ มีเกียรติ และรับชมนิทรรศการขุมทรัพย์แห่งแผ่นดิน พื้นที่แห่งการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชปณิธานและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการเกษตร สนุกทะลุจอ สัมผัสประสบการณ์ใหม่ในโรงภาพยนตร์แอนิเมชัน 7 มิติ “The Magic Box” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ด้านการเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการอบรมวิชาของแผ่นดิน และอบรมเชิงปฏิบัติการ 8 หลักสูตร ตลอด 2 วัน อาทิ หลักสูตรเกษตรไทยเท่ หลักสูตรชาใบไผ่ โดยอาจารย์สุทิน ทองเอ็ม บ้านจ่าก้อง ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการทำไร่นาแบบผสมผสาน จังหวัดสุโขทัย หลักสูตรฟาร์มเกษตร 82 ตารางวา หลักสูตรดินปลูกผัก แบบเพอร์มาคัลเจอร์ โดยอาจารย์คทาวุธ ปั้นปรางค์ จาก AB Farm ฟาร์มเกษตรบ้านๆ จังหวัดชลบุรี และหลักสูตรเกษตรวิถีใหม่ สไตล์ อ.ทอง ธรรมดา โดยอาจารย์วีรยุทธ ศรีเลอจันทร์ ศูนย์เรียนรู้สวนเพชรพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เรียนรู้ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online ได้ทาง Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ
ชม ช้อป จุใจ เลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัย ผลิตผลเกษตรอินทรีย์มีคุณภาพ ทั้งของกิน ของใช้ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ต้นไม้ โดยเกษตรกรเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ นำมาจัดจำหน่ายในราคามิตรภาพกว่า 120 ร้านค้า
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ facebook / Instagram /Line ID : @wisdomkingmuseum และ Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ